รายละเอียดการจัดงาน ของ งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 93

ในมติที่ประชุมของสมาชิกอคาเดมี หรือสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563 ลงมติให้ยุบรวมสาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม และสาขาลำดับเสียงยอดเยี่ยม เข้าด้วยกันเป็นสาขาเสียงประกอบยอดเยี่ยม เนื่องจากทั้งสองสาขาทำให้เกิดความกังวลถึงรายละเอียดและขอบเขตในการตัดสินรางวัลที่ทับซ้อนกันมากเกินไป[7] นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงกฎการตัดสินในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม คือ ภาพยนตร์ที่จะถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาดังกล่าว ต้องมีดนตรีประกอบที่สร้างขึ้นมาใหม่คิดเป็น 60% ของภาพยนตร์ทั้งเรื่อง ส่วนภาพยนตร์ที่เป็นภาคต่อหรือภาพยนตร์ที่เป็นชุด ต้องมีดนตรีประกอบที่สร้างขึ้นมาใหม่คิดเป็น 80% ของภาพยนตร์ทั้งเรื่อง[7] และในสาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม มอบสิทธิ์ให้สมาชิกของอคาเดมีทุกคนมีสิทธิ์ร่วมลงคะแนนในรอบคัดเลือก[7]

ในฐานะที่อคาเดมี เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม การแจกจ่ายเอกสารด้านภาพยนตร์ที่จับต้องได้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สำเนาภาพยนตร์, สำเนาบทภาพยนตร์ หรือซีดีเพลง จะถูกยกเลิกหลังจากงานประกาศผลรางวัลออสการ์ในครั้งนี้สิ้นสุดลง และจะเริ่มให้บริการดังกล่าวผ่านบริการสตรีมออนไลน์ "Academy Screening Room" แก่สมาชิกของอคาเดมีต่อไป[7]

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ได้มีการประกาศออกมาว่าเจสซี คอลลินส์, สเตซี เชอร์ และสตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นโปรดิวเซอร์ในงานประกาศผลรางวัลครั้งนี้[8] ส่วน Glenn Weiss รับหน้าที่เป็นผู้กำกับงาน[9] และยังคงไม่ใช้พิธีกรหลักในการดำเนินงานเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน[10]

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2564 อคาเดมีได้ประกาศรายชื่อผู้ประกาศผลรางวัลบางส่วน จำนวน 15 รายชื่อ ได้แก่ แองเจลา บาสเซตต์, แฮลลี เบร์รี, พง จุน-โฮ, ดอน ชีเดิล, ไบรอัน แครนสตัน, ลอรา เดิร์น, แฮร์ริสัน ฟอร์ด, เรจิน่า คิง, มาร์ลี แมตลิน, รีตา มอเรโน, วาคีน ฟินิกซ์, แบรด พิตต์, รีส วิเธอร์สปูน, เรเน เซลเวเกอร์ และเซ็นเดยา ซึ่งในการประกาศผลรางวัลสาขาการแสดง ยังคงให้ผู้ชนะรางวัลด้านการแสดงทั้ง 4 คน จากงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 92 เป็นผู้ประกาศผลรางวัลตามธรรมเนียมเดิม[11][12]

ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

การระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกัน รวมถึงทำให้การผลิตภาพยนตร์หยุดชะงักไป มีการปิดโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดด้านการค้าและการชุมนุมสาธารณะ คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่องานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 93 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านคุณสมบัติของภาพยนตร์ที่จะถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล ซึ่งกำหนดให้ภาพยนตร์ดังกล่าวต้องฉายภายในโรงภาพยนตร์เขตลอสแอนเจลิส อย่างน้อย 7 วัน โดยมีการฉายอย่างน้อย 3 รอบต่อวัน ในขณะเดียวกันรางวัลลูกโลกทองคำ ก็ได้เปลี่ยนคุณสมบัติสำหรับภาพยนตร์ที่จะเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในปี 2021 เช่นเดียวกัน เพื่อให้ภาพยนตร์ที่มีแผนกำหนดไว้แต่แรกว่ามีกำหนดเข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ในลอสแอนเจลิส ระหว่างวันที่ 15 มีนาคมถึง 30 เมษายน มีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล แม้ภายหลังจะเลือกเผยแพร่โดยตรงผ่านระบบสตรีมมิ่ง[13] สำหรับรางวัลออสการ์นั้น อคาเดมีระบุว่า "อยู่ระหว่างการประเมินในทุกแง่มุมของกฎเกณฑ์ที่ไม่แน่นอนนี้และอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง"[13]

สถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ เลื่อนการประชุมไปจนถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563[14][15] โดยมีมติอนุญาตให้ภาพยนตร์ที่ออกฉายครั้งแรกผ่านการป้องกันด้วยรหัสผ่าน (ครอบคลุมไปถึงบริการสตรีมมิงแบบสมัครสมาชิก) หรือบริการวีดิทัศน์ตามคำขอ มีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 93 หากเดิมมีกำหนดจะฉายผ่านโรงภาพยนตร์อยู่แล้ว และต้องให้สมาชิกได้รับชมผ่านเว็บไซต์ภายใน 60 วันนับจากวันที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นออกฉายในรูปแบบสตรีมมิง หรือวีดีโอ และเมื่อโรงภาพยนตร์กลับมาเปิดให้บริการตามปกติ กฎเดิมก็จะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง นอกจากนี้เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติตามเกณฑ์ดังกล่าว การฉายในโรงภาพยนตร์จะได้รับอนุญาตให้เกิดขึ้นในเมืองอื่น ๆ นอกเหนือจากลอสแอนเจลิส โดยเฉพาะแอตแลนตา, ชิคาโก, ไมแอมี, นิวยอร์ก และบริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก[7][16][17]

สำหรับการเลื่อนการจัดงานตามกำหนดเดิม[18] เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2563 อคาเดมีระบุว่างานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 93 จะถูกเลื่อนออกไปอีกสองเดือนจากวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เป็นวันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2564 พร้อมทั้งขยายกำหนดระยะเวลาการฉายของภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ที่จะเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล ออกไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564[19] ในแถลงการณ์ร่วมของ David Rubin ประธาน และ Dawn Hudson กรรมการผู้จัดการของอคาเดมี กล่าวว่า "เป็นเวลากว่าศตวรรษที่ภาพยนตร์มีบทบาทสำคัญในการปลอบโยนสร้างแรงบันดาลใจและให้ความบันเทิงแก่เราในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุด การขยายระยะเวลาการฉายภาพยนตร์ที่มีสิทธิ์เสนอชื่อเข้าชิงรางวัล และการเลื่อนการจัดงานประกาศผลรางวัลออกไป จะทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีความจำเป็นต้องยืดหยุ่นระยะเวลาการถ่ายทำและเผยแพร่ภาพยนตร์ของพวกเขา ปราศจากการถูกคาดโทษจากสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของพวกเขา"[19] นอกจากนี้การประกาศผลรางวัลออสการ์เกียรติยศ และรางวัลออสการ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคภาพยนตร์ ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด[19] ภายหลังจากนั้น งานประกาศผลรางวัลแบฟตา ก็เลื่อนจากเดือนกุมภาพันธ์ ไปจัดช่วงเดือนเมษายนแทน[19] ในขณะที่รางวัลลูกโลกทองคำ เลื่อนไปจัดงานแทนกำหนดการเดิมของออสการ์คือวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564[20]

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563 อคาเดมีได้ออกคำชี้แจงถึงคุณสมบัติเพิ่มเติมของภาพยนตร์ที่มีสิทธิ์ถูกเสนอชื่อเข้าชิงว่า ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์แบบขับรถยนต์เข้าไปชมอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ตามเมืองที่กำหนด มีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลด้วย[21]

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ตัวแทนของอคาเดมีให้สัมภาษณ์กับนิตยสารวาไรตี้ ถึงรูปแบบการจัดงานว่าอาจจะเป็นการจัดงานแบบมีการปรากฏตัวของผู้เข้าชิงในงาน แตกต่างจากรูปแบบการสื่อสารทางไกลแบบงานประกาศผลรางวัลเอมมี ครั้งที่ 72 ที่ผู้ประกาศผลรางวัล และผู้เข้าชิงรางวัล อยู่คนละสถานที่กัน[22] และเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2564 อคาเดมีประกาศว่างานประกาศรางวัลจะจัดขึ้นที่สถานีรถไฟเก่ายูเนียนสเตชัน ควบคู่ไปกับการจัดงานที่โรงภาพยนตร์ดอลบีเธียเตอร์ โดยยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะแบ่งช่วงของการประกาศผลรางวัลใน 2 สถานที่นี้อย่างไรทั้งนี้งานประกาศผลรางวัลอื่น ๆ แบบปรากฏตัวภายในงานที่เกี่ยวข้องกับรางวัลออสการ์ ถูกยกเลิกทั้งหมดแล้ว[23]

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564 คณะผู้จัดงานได้ส่งจดหมายแจ้งให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล ทราบว่า "สำหรับคนที่มาร่วมงานไม่ได้เพราะตารางงาน หรือมีความยากลำบากในการเดินทาง จะไม่มีการประชุมทางไกลผ่านวิดีโอภายในงาน" และจดหมายยังกล่าวต่ออีกว่า "เราได้พยายามเป็นอย่างมากที่จะมอบค่ำคืนที่สนุกสนานและปลอดภัยให้กับทุกคน รวมไปถึงคอหนังกว่าล้านคนทั่วโลก"[24] อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564 อคาเดมีประกาศว่าจะเพิ่มสถานที่จัดงานย่อยในลอนดอน และปารีส เพื่อลดการเดินทางของผู้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงบางส่วน[25]

ใกล้เคียง

งานประกาศผลรางวัลออสการ์ งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 93 งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 96 งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 94 งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 60 งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 65 งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 62 งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 74 งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 73 งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 67

แหล่งที่มา

WikiPedia: งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 93 http://oscar.go.com/ http://www.oscars.org/ https://abc.com/shows/oscars/news/nominations/osca... https://collider.com/who-is-hosting-oscars-2021/ https://deadline.com/2020/03/golden-globes-eligibi... https://deadline.com/2020/04/oscars-academy-moves-... https://deadline.com/2020/04/oscars-major-changes-... https://deadline.com/2021/03/academy-president-con... https://deadline.com/2021/04/academy-announces-ens... https://www.hollywoodreporter.com/news/golden-glob...